bookmark_borderภาวะไขมันพอกตับ รู้ทัน แก้ไขทัน

ในปัจจุบันพบว่าคนไทยเป็นโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงกันมากขึ้น มีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆในการดำเนินชีวิต เช่น รับประทานอาหารหวาน ไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

ซึ่งนอกจากจะทำให้มีอาการของโรคนั้นๆที่เป็นอยู่แล้วอาจเกิดภาวะไขมันพอกตับร่วมด้วยโดยไม่รู้ตัว

หลายคนอาจสงสัยว่าภาวะไขมันพอกตับคืออะไร อันตรายแค่ไหน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักภาวะไขมันพอกตับกันมากขึ้น

ตับมีหน้าที่อะไร

  • ตับเป็นอวัยวะทำหน้าที่สำคัญต่อกระบวนการต่างๆในร่างกายหลายอย่างด้วยกัน เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆคือ
  • ทำหน้าเป็นโรงงานผลิต เช่น สร้างน้ำดีไปย่อยไขมันในลำไส้,สร้างโปรตีน แอลบูมิน (albumin) ในเลือด,สร้างไขมันโคเลสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ
  • ทำหน้าที่เป็นโรงงานแปรรูป ย่อยคาร์โบไฮเดรตเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเพื่อเป็นพลังงาน แปรรูปน้ำตาลส่วนเกินการจากใช้งานให้เป็น glycogen, ทำลายสารพิษต่างๆแล้วขับออกจากร่างกาย
  • ทำหน้าที่เป็นโกงดังเก็บสินค้า สะสม glycogen เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง ,สะสมธาตุเหล็ก

ภาวะไขมันพอกตับคืออะไร และมีสาเหตุจากอะไร

เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำพลังงานที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมในรูปไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ มีสาเหตุมาจาก

  • การดื่มแอลกอฮอล์มากๆ
  • การรับประทานอาหารมัน อาหารหวาน หรือคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาหารเหล่านี้จะไปเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ในตับ เมื่อร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด ก็จะเกิดการสะสมขึ้นที่ตับในที่สุด
  • มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไวรัสตับ โรคอ้วน
  • ทายยาบางชนิด

ใครบ้างที่เสี่ยงจะเกิดภาวะไขมันพอกตับ

  • โรคอ้วน น้ำหนักตัวเกินโดยวัดจากค่า BMI เกิน 24.9
  • โรคเบาหวาน หรือค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 mg/dl
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันชนิดดีหรือ HDL cholesterol ต่ำ
  • โรคความดันโลหิตสูง

การตรวจ

เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ เป็นโรคเรื้อรังที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ในระยะแรกจะไม่ค่อยมีอาการที่ชัดเจน ซึ่งอาการที่พบอาจแค่อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา

แต่ถ้าเป็นมากจนก่อให้เกิดตับอักเสบ โรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ ฉะนั้นการตรวจเพื่อให้รู้ตัวตั้งแต่ยังไม่รุนแรงจะดีกว่า

  • การตรวจเลือด หาค่าเอนไซน์ตับ
  • การตรวจอัลตราซาวนด์
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ
  • การตรวจระดับความแข็งของตับและวัดปริมาณไขมันในตับ

การรักษา

ภาวะไขมันพอกตับในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆเช่น

  • ลดน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดอาหารหวาน อาหารมัน เพิ่มผัก ผลไม้และอาหารที่มีกากใยสูงเช่นธัญพืชชนิดต่างๆ
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
  • ถ้ามีโรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูงให้ควบคุมโรคประจำตัวให้ได้ ตามแพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปี

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ตรวจพบภาวะไขมันพอกตับ ขออย่าได้นิ่งนอนใจ ถึงแม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่ถ้าปล่อยให้เป็นนานๆอาจส่งผลเสียที่นำไปสู่โรคตับอักเสบ โรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด เราเชื่อเหลือเกินว่าถึงแม้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปเพราะผลที่ได้จะคุ้มค่าและทำให้มีสุขภาพดีขึ้นอย่างแน่นอน